ปฏิเสธเสนอตัวเป็นจังหวัดนำร่อง

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อเพิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 20 ก.พ. มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก นักท่องเที่ยวที่ดินทางมาตามโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาตามระบบ Test & Go รวม 1,073 ราย เสียชีวิต 3 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนนี้ แต่อย่างไรก็ตามในด้านการแพทย์ทางจังหวัดยังคงรับมือได้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และส่วนใหญ่รักษาตัวที่บ้าน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านประมาณ 7,400 คน ทยอยรักษาหายวันละ 700-800 คน

ส่วนปัญหาความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาทางจังหวัดได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการ โดยให้คนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด สามารถติดต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐทั้ง 4 แห่ง รวมทั้งคลินิกอุ่นใจ และโรงพยาบาล รพ.สต. และจองคิวออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากร ทั้งด้านเตียง ยาและเวชภัณฑ์ รองรับ โดยให้เน้นการจัดระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation : HI / Community Isolation : CI) เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย พร้อมมีระบบติดตามอาการ และสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ติดเชื้อและครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง รวมถึงให้บริการผู้ป่วยอื่นๆ ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังเร่งบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด และเน้นปฏิบัติตามมาตรการ VUCA คือ V เร่งฉีดวัคซีน U ป้องกันตนเองครอบจักรวาล รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก พยายามอยู่ในที่โล่ง C สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ หากพบการติดเชื้อให้ติดต่อ รพ.สต.ในพื้นที่หรือคลินิกอุ่นใจ เพื่อขอคำแนะนำ โดยจะเน้นให้ผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยดูแลที่บ้าน มีการจัดยาและเวชภัณฑ์ให้ และติดต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขได้ตลอดเวลา หากมีอาการมากขึ้นจะมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายและประชาชนร่วมมือกัน เชื่อว่าจะสามารถชะลอการระบาดครั้งนี้ และสามารถขับเคลื่อนภูเก็ตต่อไปได้

ในส่วนของข้อมูลศักยภาพด้านสาธารณสุข ของจังหวัดภูเก็ต มีการใช้ยา Favipiravir ซึ่งจะมีการให้ยาดังกล่าวแก่ผู้ที่มีอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยขณะนี้จังหวัดภูเก็ต มีผู้ป่วยสีเขียว ครองเตียง 1,601 ราย (มีเตียงสีเขียว 2,774 เตียง) ผู้ป่วยสีเหลืองครองเตียง498 ราย (มีเตียงสีเหลือง 730 เตียง) ผู้ป่วยสีแดงครองเตียง 15 ราย (มีเตียงสีแดง 45 เตียง) โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) จำนวนประมาณ 7,400 ราย

โดยที่ประชุมได้มีการหารือกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาของจังหวัดภูเก็ตดังนี้ มาตรการในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.เฝ้าระวังและตรวจคัดกรองโควิด-19 เมื่อเข้าจังหวัด ระหว่างพำนักก่อนกลับประเทศ 2.จัดให้มี Hotel Isolation โดย MOU กับโรงพยาบาล 3.กำหนดให้โรงแรมมี Hotel Room Isolation ร้อยละ 5 ของจำนวนห้องพัก โดย MOU กับ โรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อซึ่งเข้าพักในโรงแรม

Xส่วนมาตรการในกลุ่มคนไทย 1.เปิดคลินิกอุ่นใจ ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์ประเมินอาการ คัดแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อลงทะเบียน Home Isolation และจ่ายยา favipiravir สำหรับกลุ่ม 607 2.ขยายบริการใน รพ.สต. มีการลงทะเบียน Home Isolation และจ่ายยา Favipiravir สำหรับกลุ่ม 607 3.จัดทำ Platform Phuket Organizations COVID care (POCC) เพื่อการบริหารจัดการ Home Isolation

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมหารือสรุปข้อเสนอของจังหวัดภูเก็ตเพื่อส่งข้อมูลเสนอ ศบค. ดังนี้ 1.ลดระยะเวลาการแยกกักผู้ติดเชื้อ จาก 10 วัน เป็นแยกกักตัว 5 วัน และอีก 5 วัน สามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention 2.ปรับการรายงานผู้ติดเชื้อรายวัน โดยให้รายงานเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) อาการรุนแรง (สีแดง) และผู้ป่วยเสียชีวิต 3.กรณีคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดคณะใหญ่ๆ และมีการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเกิด 50% ขอให้ส่งกลับตามจังหวัดที่เดินทางมา เพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองหน้าด่านที่มีการรับคนมาจากที่ต่างๆ จำนวนมาก ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ขณะนี้มีจำนวนจำกัด

ส่วนกรณีการเสนอให้จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่องในการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องนี้แต่อย่างใด ซึ่งตนไม่ทราบว่ามีการสื่อเรื่องนี้ออกไปได้อย่างไร ในการประชุมวันนี้ไม่มีการเสนอเรื่องนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกัน แต่มองว่าขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องได้เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตยังเกินจากมาตรการที่วางไว้ แม้จะมีผู้เสียชีวิตน้อยแต่ยังเกิน 0.1% อยู่ จนถึงขณะนี้ขอยืนยันว่าจังหวัดภูเก็ตยังไม่ได้เสนอตัวเป็นพื้นที่นำร่องในการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแต่อย่างใด

Updated: February 22, 2022 — 10:49 am

Leave a Reply